ความสุขคืออะไร ข้อคิดจากหนังสือ Sapiens

Punyapat Sessomboon
5 min readDec 26, 2019

--

https://www.amazon.com/Sapiens-Humankind-Yuval-Noah-Harari/dp/0062316095

ประมาณช่วงกลางปีที่แล้ว ผมมีโอกาสได้อ่านหนังสือยอดนิยมอย่าง Sapiens ซึ่งผมประทับใจมากๆ โดยเฉพาะบทท้ายๆ ที่ชื่อว่า “And They Lived Happily Ever After” เป็นบทที่ฝากข้อคิดให้ผู้อ่านที่ใกล้จะอ่านจบแล้วได้เอาไปคิดเป็นการบ้าน ซึ่งเนื้อหาของบทนี้จะพูดถึงความสุขของมนุษย์

ก่อนจะพูดถึงเนื้อหาของบทนี้ ต้องขอเกริ่นคร่าวๆ เกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้ก่อนครับ อาจจะยาวนิดนึงเพราะผมอยากให้ผู้อ่านได้ความรู้สึกเหมือนกับคนที่อ่านหนังสือมาตั้งแต่ต้นแล้วมาอ่านบทนี้ตอนใกล้จะจบ น่าจะทำให้รู้สึกดีกว่ากระโดดเข้าไปเนื้อหาของบทนี้เลย

Sapiens เป็นหนังสือที่เล่าเรื่องวิวัฒนาการของเผ่าพันธ์มนุษย์ เริ่มตั้งแต่เมื่อประมาณ 70,000 ปีก่อน เราเป็นแค่สัตว์ประเภทหนึ่งในทุ่งหญ้าสะวันนา อาศัยอยู่ร่วมกับสัตว์อื่นๆ อีกมากมาย ไม่ได้มีความแตกต่างหรือโดดเด่นกว่าสัตว์ชนิดอื่นๆ เลย เราต้องหาอาหารและกินแบบดิบๆ ต้องต่อสู้กับทั้งมนุษย์ด้วยกันและสัตว์อื่นๆ เพื่อแย่งที่อยู่อาศัย ต้องวิ่งหนีสิงโตและสัตว์นักล่า บางครั้งวิ่งหนีไม่ทันก็ต้องถูกกิน ต้องตายเมื่อเจ็บป่วยแม้จะเป็นแค่โรคที่ไม่ร้ายแรงก็ตาม เพราะเราไม่รู้วิธีรักษา ถึงแม้จะโชคดีมีชีวิตอยู่จนแก่ก็อาจจะต้องโดนขับไล่ออกจากฝูงเพราะถูกมองเป็นภาระ

https://allyouneedisbiology.wordpress.com/2015/12/26/meat-evolution-humans/

จนเราเริ่มมีวัฒนาการด้านความคิด (Cognitive Revolution) มนุษย์เริ่มสร้างภาษา ทำให้เราสื่อสารกันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นเทียบกับสัตว์ชนิดอื่นๆ ที่สื่อสารกันได้อย่างจำกัดกว่ามากๆ เช่น ลิงอาจจะบอกเพื่อนลิงได้ว่ามีสิงโตกำลังมาจากทิศเหนือ (ด้วยการชี้) แต่มนุษย์สามารถใส่รายละเอียดได้ เช่น มีสิงโต 3 ตัว พ่อ แม่ ลูก กำลังเดินอ้อมหุบเขามาตามลำธารแล้วกำลังตรงมาที่เรา ตัวนึงเหมือนได้รับบาดเจ็บมาก่อน ภาษาทำให้เราสามารถถ่ายทอดความรู้ให้กันได้ ทำให้เราเก่งขึ้น ล่าสัตว์ได้มากขึ้น และเมื่อทำผิดพลาดเราก็สามารถสอนบทเรียนให้คนอื่นๆ และลูกหลานได้

จนถึงตอนนี้เราก็ยังหาสาเหตุกันไม่ได้ว่าทำไมเผ่าพันธุ์ของเราถึงโชคดีได้วิวัฒนาการด้านความคิด นักวิชาการบางคนก็บอกว่าเป็นเรื่องโชคล้วนๆ ลองคิดดูว่าถ้าวันนั้นไม่ใช่เผ่าพันธุ์เราแต่เป็นช้าง เสือ สิงโต ปลา โลกวันนี้จะหน้าตาเป็นแบบไหน

มนุษย์สมัยก่อนไม่ได้มีแค่สปีชีส์เดียว เรามีพี่น้องต่างสายพันธุ์อีกมากมาย แต่มีข้อสันนิษฐานว่าแต่ละสายพันธุ์ต่อสู้กันเพื่อแย่งถิ่นอาศัย แย่งอาหาร จนตอนนี้ก็เหลือแค่สปีชีส์ของเราเท่านั้น คือ Homo Sapiens ซึ่งก็เป็นที่มาของชื่อหนังสือเล่มนี้ด้วย เพราะเขียนเรื่องราวประวัติของ Homo Sapiens (Sapiens แปลว่า wise man หรือผู้ฉลาด) เหตุผลที่ Sapiens สารถเอาชนะสปีชีส์อื่นๆ ได้ สันนิษฐานกันว่าเป็นเพราะว่าความสามรถในการใช้ความคิดของเรา เช่น เมื่อก่อนเคยมีมนุษย์สปีชีส์ Neanderthalensis ที่ทั้งตัวใหญ่กว่า แข่งแรงกว่า ทนกับสภาพอากาศที่ย่ำแย่ได้ดีกว่า ขนาดของสมองก็ไม่ได้แตกต่างจากเรามากเท่าไหร่ แต่ก็ต้องสูญพันธุ์ไปจากโลกนี้ อาจจะเพราะพวกเขาสื่อสารกันได้ไม่ดีเท่ากับเรา ถ่ายทอดความรู้ได้ไม่เก่งเท่าเรา หรืออาจจะแค่เพราะ Sapiens โชคดีกว่าก็เป็นไปได้

https://www.scienceabc.com/humans/neanderthals-vs-homo-sapiens-different-species-or-subspecies.html

จนถึงเมื่อประมาณ 12,000 ปีก่อน มนุษย์เริ่มเรียนรู้ที่จะสร้างอาหารเอง โดยไม่ต้องออกไปล่าหรือไปเก็บของจากป่า นั้นคือการทำการเกษตร (Agricultural Revolution) มนุษย์ปลูกผักและเลี้ยงสัตว์เพื่อเอาไว้กิน ซื้อ-ขาย มนุษย์ไม่ต้องทนหิวอีกต่อไป มนุษย์มีความเป็นอยู่ที่สะดวกสบายขึ้น แต่ก็มีข้อเสียมากมายตามมา เช่น เมื่อก่อนเราหิวเราก็แค่ออกไปล่าสัตว์ไปเก็บของป่าแล้วกลับมานอน แต่ตอนนี้เราต้องตื่นแต่เช้ามารดน้ำต้นไม้ มาให้อาหารสัตว์ มาเตรียมปุ๋ย มาเฝ้าระวังคนมาขโมยพืชผล มีตารางงานที่ต้องทำแต่ละวันชัดแจน จะแอบไปนอนก็ไม่ได้ อิสรภาพของเราน้อยลง เราได้รับสารอาหารน้อยลง เพราะช่วงแรกๆ ของยุคนี้ เรากินแค่สิ่งที่เราปลูกหรือที่เราเลี้ยงไว้ เมื่อเราเริ่มสร้างอาหารเองได้ มนุษย์ก็เริ่มปักหลักกับพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง ไม่เหมือนสมัยก่อนที่เราย้ายที่อยู่ไปเรื่อยๆ การอยู่กับที่ทำให้เราตกเป็นเป้าหมายของเชื้อโรคได้ง่ายขึ้น ความสามารถของเราก็ลดลง แต่ก่อนเราสามารถอยู่ด้วยตัวคนเดียวได้ หาอาหารเองได้ มีความสามารถในการล่า การปีนต้นไม้ วิ่งระยะไกล และรู้ว่าพืชชนิดไหนกินได้หรือไม่ได้ แต่ตอนนี้เราอยู่ตัวคนเดียวไม่ได้แล้ว เราไม่รู้วิธีล่าสัตว์ เราไม่รู้วิธีปรุงอาหาร เราต้องพึ่งพาอาศัยคนอื่นที่มีความเชี่ยวชาญมากกว่า ทั้งหมดนี้แลกกับความสะดวกสบายที่ไม่ต้องออกไปหาอะไรกินเอง ไม่ต้องทนหิว แล้วมันคุ้มหรือเปล่า

ต่อมามนุษย์ก็เริ่มอยู่รวมกันเป็นกลุ่มใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จากครอบคัวเป็นชนเผ่า เป็นหมู่บ้าน เป็นเมือง และอาณาจักร เราเริ่มมีความเชื่อ มีศาสนา มีระบบชนชั้น มีระบบการปกครอง และอื่นๆ อีกมากมายที่ล้วนเกิดจากจินตนาการทั้งสิ้น ลองคิดดูว่าจะมีสัตว์ชนิดไหนบนโลกที่ถ้าบอกว่าให้เอาอาหารของมันไปให้คนอื่น เมื่อตายไปจะได้ขึ้นไปอยู่สวรรค์และมีอาหารให้กินมากมาย คงไม่มีสัตว์ชนิดไหนเลยที่จะยอมทำนอกจากมนุษย์ แต่จินตนาการเหล่านี้ก็ก็มีข้อดีเช่นกัน มันเป็นสิ่งที่ทำให้เราสามารถอยู่รวมกันได้จำนวนมากอย่างสงบ เช่น การที่เราเชื่อในกฏหมาย การที่เราเชื่อเรื่องบาปบุญ การที่เรามีเป้าหมายเดียวกันว่าเราจะตั้งใจทำงานเพื่อให้บริษัทของเราเจริญก้าวหน้า แทนที่จะมุ่งมั่นหาอาหารกินไปวันๆ หรือฆ่ากันเพื่อให้ได้ถ้ำที่น่าอยู่กว่า

แต่ทุกๆ วิวัฒนาการของมนุษย์ ก็มาพร้อมกับภัยอันตรายที่เราไม่รู้ตัว เราเชื่อจนถึงขั้นที่เราเต็มในที่จะฆ่ากันเพราะความเชื่อ เราฆ่าคนเพื่อบูชายัน เราฆ่ากันเพราะเรานับถือศาสนาไม่เหมือนกัน เราฆ่ากันเพราะเราเชื่อว่าเป็นคำสั่งของพระมหากษัติย์ที่เหมือนเทพมาเกิด เราฆ่ากันเพราะเราเชื่อว่ามันทำให้ประเทศเราปลอดภัยและมั่นคงขึ้น เราฆ่ากันเพราะเราอยากไปปกครองคนอื่น เราเชื่อว่าเราจะทำให้เขามีความสุขได้ มนุษย์เริ่มก่อสงคราม คนสมัยก่อนอาจจะตายเพราะโรคภัย หรืออุบัติเหตุบ้าง แต่จำนวนนั้นเทียบไม่ได้เลยกับมนุษย์ที่ต้องตายในสงคราม หรือจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

https://en.wikipedia.org/wiki/First_Crusade#/media/File:Counquest_of_Jeusalem_(1099).jpg

จนมาถึงยุคของเรา ยุคแห่งวิทยาศาสตร์ (Scientific Revolution) ในช่วง 500 ปีที่ผ่านมา มนุษย์ได้พัฒนาไปอย่างก้าวกระโดด หลายๆ อย่างที่เราเห็นวันนี้เป็นเรื่องที่คนสมัยก่อนไม่เชื่อเลยว่าจะเป็นไปได้ ชีวิตของเราสะดวกสบายขึ้นมาก มียารักษาโรคที่ถ้าเป็นสมัยก่อนคือต้องตายอย่างเดียว เราติดต่อสื่อสารกันข้ามโลกได้ด้วย Internet เราไม่ต้องออกไปหาอาหารในป่า แค่กดมือถือแป๊บเดียวก็ได้อาหารที่เราต้องการมาแล้ว เราไม่มีสงครามมาหลายปีแล้ว เราสร้างหุ่นยนต์มาทำงานแทน เราไปเหยียบดวงจันทร์ เราศึกษาเรื่องการยืดหดของเวลา เราพยายามติดต่อกับสิ่งมีชีวิตนอกโลก ฟังแล้วเหมือนเราอยู่ในยุคที่รุ่งเรืองมากๆ

แต่ก็เหมือนเดิมครับ มันมีข้อเสียตามมาเสมอ เพราะว่าเราเชื่อมต่อกันได้กว้างไกล ตื่นเช้ามาเราเลื่อนดูฟีด Facebook ก็เห็นแต่ชีวิตคนอื่นที่เหมือนจะดีกว่าเรา เรารู้สึกไม่มั่นใจ เรารู้สึกกดดันเพราะว่าเราไม่มีเท่าคนอื่น เราไม่ได้ดูดีเหมือนคนอื่น ซึ่งถ้าเทียบกับเด็กหนุ่มในชนเผ่าสมัยก่อน เขามีตัวเปรียบเทียบแค่คนในหมู่บ้านเท่านั้น ซึ่งก็เป็นเด็กเป็นคนแก่ไปสะมาก เขาไม่ต้องเอาตัวเองไปเทียบกับใคร เขามีความมั่นใจที่จะเดินไปจีบสาวข้างๆ บ้าน มั่นใจว่าเขาคือคนที่ล่าสัตว์เก่งที่สุดในหมู่บ้าน

https://mgronline.com/drama/detail/9560000145437

ทุกวันนี้เราไม่สามารถเอาตัวรอดด้วยตัวคนเดียวได้แล้ว เราหาอาหารเองไม่เป็น เราสร้างยานพาหนะไม่เป็น เราสร้างที่อยู่อาศัยไม่เป็น เรารักษาโรคไม่เป็น ทั้งหมดเราต้องพึ่งคนอื่น โดยใช้เงินเป็นตัวกลาง เมื่อเราต้องการเงิน เราก็ต้องทำงาน ยิ่งเราต้องการมาก เราก็ต้องยิ่งทำงานมาก เราทำงานตั้งแต่เช้าจนเย็น มีเวลากินข้าว 1 ชั่วโมง ง่วงก็นอนไม่ได้ บางครั้งไม่สบายก็ต้องไปทำงาน ทั้งหมดนี้เพื่อให้ปลายปีเรามีเงินไปเที่ยวต่างประเทศตามเทรนที่คนอื่นๆ ทำกัน มีรูปลง Instagram เหมือนคนอื่นๆ

วิวัฒนาการทั้งหมดที่ผ่านมา ตั้งแต่เรายังเป็นแค่สัตว์ธรรมดาที่ออกหาอาหารในป่า จนเป็นเราที่นั่งอ่านบทความนี้ผ่าน Smart phone หรือโน๊ตบุค มนุษย์เรามีความสุขมากขึ้นไหมโลกของเราน่าอยู่ขึ้นจริงๆ หรืเปล่า?

นี่ก็เป็นที่มาของบทที่เรากำลังจะพูดถึงกันครับ “And They Lived Happily Ever After”

มนุษย์เราผ่านวิวัฒนาการมาหลายครั้ง แต่ละครั้งก็ล้วนเกิดขึ้นเพราะเราเชื่อว่ามันจะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของเราดีขึ้น มันจะทำให้เรามีความสุขมากขึ้น แต่เราไม่ค่อยได้กลับมาทบทวนกันเท่าไหร่ว่าเรามีความสุขมากขึ้นจริงไหม โลกของเราเป็นโลกที่น่าอยู่ขึ้นจริงๆ หรือเปล่า เราเชื่อว่าเมื่อเรามีความสามารถมากขึ้น มีอำนาจมากขึ้น เราจะมีความสุขมากขึ้น ก็อาจจะจริงในบางเรื่อง เช่น การรักษาโรค การเดินทาง แต่ถ้าจะสรุปเลยว่ายิ่งมีความสามารถมาก มีอำนาจมาก เราก็จะมีความสุขมากก็ดูจะไม่ถูกต้องเสมอไปตามที่ได้ยกตัวอย่างไปแล้ว

แล้วถ้าวันหนึ่งมีงานวิจัยที่สรุปว่ามนุษย์เราไม่ได้มีความสุขมากขึ้นเทียบกับบรรพบุรุษย์นักล่าของเรา เราแค่เข้าใจผิดและคิดไปเองว่าเรามีความสุข แล้วเราทำทั้งหมดนั่นไปเพื่ออะไร เราทำการเกษตรทำไม เราสร้างเครื่องจักรทำไม เราสร้างประเทศทำไม เราคิดค้นวิทยาการมากมายไปเพื่ออะไร?

https://www.earth.com/news/human-evolution-lifestyle/

อีกมุมที่น่าคิด สมมติว่าเรามีความสุขมากขึ้นจริงๆ แล้วสัตว์ชนิดอื่นๆ บนโลกมีความสุขมากขึ้นเหมือนเราไหม ข้อนี้น่าจะเห็นตรงกันหมดว่าไม่เลย สัตว์มากมายสูญพันธุ์ไปจากโลก สัตว์จำนวนมากถูกเลี้ยงในคอกเล็กๆ รอวันโดนฆ่า สัตว์บางประเภทตั้งแต่เกิดจนตายไม่ได้เห็นโลกภายนอกลย ไม่ได้คุยหรือสื่อสารกับเพื่อนของมันเลย ถ้าเราจะบอกว่าเราทำให้โลกน่าอยู่ขึ้น ก็คงเป็นแค่โลกสำหรับมนุษย์อย่างเดียว ไม่ใช่เพื่อนร่วมโลกชนิดอื่นๆ เลย

https://www.plantbasednews.org/opinion/animal-rights-mainstream-media

วิธีวัดความสุข

ถ้าเราอยากรู้ว่าเรามีความสุขมากขึ้นไหม เราก็ต้องตอบให้ได้ก่อนว่า ความสุขคืออะไรและมันวัดกันยังไง ว่าอันไหนคือมีความสุขมากหรือมีความสุขน้อย เรื่องความหมายและวิธีวัดความสุขก็เป็นที่ถกเถียงกันมานานครับ แรกๆ เราก็มองว่าเป็นเรื่องปัจจัยภายนอก เช่น ความร่ำรวย สุขภาพที่ดี ที่อยู่อาศัยดี แต่ถ้าแบบนั้นคนเกินครึ่งบนโลกก็คงจะไม่มีความสุข แต่เราก็มักจะเห็นเหตุการณ์ที่คนที่ไม่มีบ้าน หรือยากจนมากๆ แต่เขาบอกว่าเขามีความสุขดีใช่ไหมครับ แสดงว่าเราคงวัดความสุขจากปัจจัยภายนอกอย่างเดียวไม่ได้

ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมานักจิตวิทยาและนักชีววิทยาพอจะได้ข้อสรุปที่ตรงกันบ้างเกี่ยวกับความหมายของความสุขว่า มันคือ “Subjective well-being” ผมไม่แน่ใจว่าควรจะแปลมันว่าอะไร แต่ถ้าแปลแบบง่ายๆ เลยก็คือ “ความสุขใจ” การแปลแบบนี้หมายความว่า ความสุขคือสิ่งที่เกิดจากข้างใน ก็ฟังดูเหมือนจะเข้าท่าดี แต่ถ้าความสุขมันเกิดจากข้างในแบบนี้ เราจะวัดมันได้ยังไง มีนักวิจัยพยายามวัดมันโดยทำแบบสอบถามขึ้นมา โดยให้ผู้ทำแบบสอบถามตอบคำถามเป็นระดับ 1- 10 เช่น “คุณคิดว่าคุณพอใจกับชีวิตตอนนี้มากแค่ไหน” หรือ “คุณมองเห็นอนาคตของคุณสดใสมากแค่ไหน” แล้วเอาคำตอบเหล่านี้มาคิดค่าเฉลี่ย จากนั้นเราก็ลองให้คนที่มีเงินเดือนหลักล้านหลายๆ คน กับคนที่มีเงินเดือนหลักหมื่นหลายๆ คน มาลองทำแบบสอบถาม ถ้าค่าเฉลี่ยของคะแนนของคน 2 กลุ่มนี้ออกมากต่างกัน เช่น คนมีเงินเดือนมากได้ค่าความสุข 9.5 คนมีเงินเดือนน้อยกว่ามีค่าความสุข 8.0 เราก็จะสรุปได้ว่า เงินทำให้เรามีความสุข หรือในทำนองเดียวกัน การแต่งงานทำให้เรามีความสุข ประชาธิปไตยทำให้คนมีความสุข การไม่เป็นเมืองขึ้นใครทำให้เรามีความสุข

ตัวอย่างจากการสำรวจจริง เช่น เราพบว่า เงินทำให้คนเรามีความสุขได้มากขึ้นจริง แต่! ถึงแค่จุดๆ หนึ่งเท่านั้น ถ้าเลยจุดนั้นไป เงินจะไม่ค่อยมีผลทำให้เรามีความสุขมากขึ้นอีกแล้ว เช่น ถ้าผมมีเงินเดือน 10,000 บาท วันนึงผมถูกหวย 100,000 บาทผมจะมีความสุขมากๆ ไปอีกสักพักใหญ่ๆ เลย แต่ถ้าผมมีเงินเดือน 500,000 บาท แล้วถูกหวยราคา 5,000,000 บาท ผมจะไม่ได้รู้สึกมีความสุขมากมายอะไร หรือถ้ามีก็อาจจะเป็นแค่ระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น ผมอาจจะเอาเงินไปซื้อบ้านที่น่าอยู่ขึ้น ไปกินอาหารดีๆ แต่ไม่นาน สิ่งเหล่านี้ก็จะเป็นแค่เรื่องที่คุ้นเคย ไม่ได้พิเศษอะไรอีกแล้ว

อีกตัวอย่างจากในหนังสือครับ การเจ็บป่วยทำให้เรามีความสุขน้อยลง แต่แค่ในระยะสั้นๆ ถ้าอาการเจ็บป่วยนั้นไม่ได้แย่ลงและไม่ได้สร้างความเจ็บปวดตลอดเวลา เช่น คนที่ถูกวินิจฉัยว่าเป็นเบาหวาน อาจจะเศร้าไปสัก 1–2 สัปดาห์ แต่เมื่อเขาสามารปรับตัวให้เข้ากับอาการและวิธีการกินได้แล้ว เขาก็จะกลับมามีความสุขเท่าเดิม หรือ ถ้าเรานำเด็กฝาแฝด 2 คนมาทำการทดลอง วันแรกพวกเขามีความสุขเท่าๆ กัน หลังจากนั้นคนหนึ่งประสบอุบัติเหตุต้องตัดขา อีกคนถูกหวย 10 ล้าน ผ่านไปสัก 2–3 ปี เมื่อเราให้ทั้ง 2 คนทำแบบสอบถามใหม่ พวกเขาจะตอบว่ามีความสุขในระดับที่เท่าๆ กันเหมือนวันแรกที่ทดสอบ

อีกการค้นพบที่น่าสนใจมากๆ คือ “Happiness depends on the correlation between objective conditions and subjective expectation” หมายความว่าความสุขของเราขึ้นอยู่กับว่าเราคาดหวังมากแค่ไหน ถ้าเราต้องการรถ Honda City แล้วเราได้รถ Honda City เราจะมีความสุข ถ้าเราคาดหวังว่าเราจะได้ BMW i8 แต่เราได้ Honda Accord เราจะไม่มีความสุข นี่ก็เป็นคำตอบว่าทำไมคนที่เงินเดือน 500,000 แล้วถูกหวย 5,000,000 บาทถึงไม่ได้รู้สึกมีความสุขมาก เพราะว่าเขาอาจจะไม่ได้ต้องการเงินมากกว่านี้แล้ว หรือการที่เราตื่นขึ้นมาดูฟีด Facebook แล้วบางคนไม่สบายใจ อาจจะเพราะว่าเราเริ่มสร้างความต้องการใหม่ๆ ขึ้นมา เช่น ทำไมเราไม่รวยแบบเขา ทำไมเราไม่ได้เที่ยวต่างประเทศแบบเขา ทำไมเราไม่มีอย่างเขา หรืออาจจะไม่ได้ต้องไปเทียบกับคนอื่นก็ได้ครับ แค่เห็นโฆษณาเราก็เกิดความอยาก เกิดเป้าหมายในใจแล้ว เมื่อเราไม่ได้ หรือกลัวว่าจะไม่ได้เราก็ทุกข์แล้วแล้วอย่างนี้จะสรุปว่าการที่เรามี Internet มี TV เป็นสิ่งที่ทำให้เรามีความสุขได้ยังไง

แต่เรื่องเหล่านี้ก็ไม่ได้แปลกใหม่อะไร นักปราชญ์ในอดีตก็ค้นพบมานานแล้วว่า “การพอใจในสิ่งที่ตนเองมี มันสำคัญกว่าการได้สิ่งใหม่มาเรื่อยๆ” ถ้าเป็นแบบนี้จริง ต่อให้นักวิทยาศาสตร์คิดค้นวิธีการทำให้เราเป็นอมตะได้ เราก็อาจจะไม่มีความสุขก็ได้

การวัดความสุขจากสารเคมีในสมอง

อีกแนวคิดของการวัดความสุขครับ เช่นเดียวกับที่นักจิตวิทยาพยายามวัดความสุขโดยเทียบกับปัจจัยภายนอกและภายในต่างๆ นักชีววิทยาก็ใช้แบบสอบถามเพื่อวัดความสุขเหมือนกัน แต่ต่างกันที่นำผลลัพธ์ไปเทียบกับพันธุกรรมและปริมาณสารเคมีในสมอง และการค้นพบของพวกเขาก็น่าสนใจมากๆ

นักชีววิทยาเชื่อว่าอารมณ์และความรู้สึกถูกควบคุมโดยการทำงานของอวัยวะต่างๆ ภายในร่างกายและสารเคมีในสมองซึ่งค่อยๆ ถูกพัฒนาต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายล้านปี ความสุขและอารมณ์อื่นๆ เช่น ความโกรธ ความเศร้า ความเสียใจก็เช่นกัน พวกมันไม่ได้ถูกควบคุมโดยปัจจัยภายนอก เช่น เงินเดือน การเลื่อนขั้นหรืออุบัติเหตุ แต่ถูกควบคุมโดยสารเคมีในสมองของเราทั้งหมด เช่น Serotonin, Dopamine และ Oxytocin เราไม่ได้มีความสุขเพราะว่าได้ขึ้นเงินเดือน ตกหลุมรัก หรือได้รถคันใหม่ แต่เรามีความสุขเพราะว่าสิ่งเหล่านั้นไปกระตุ้นให้สารเคมีและปฏิกริยาต่างๆ ในร่างกายเราทำงานต่างหาก

https://www.slideshare.net/LorettaBreuning/happy-brain-chemicals-dopamine-serotonin-oxytocin-and-endorphin

แต่โชคร้ายที่ร่างกายของเราเหมือนจะถูกออกแบบมาให้คงระดับของสารเคมีและปฏิกิริยาเหล่านี้ไว้ในระดับที่คงที่เสมอ ร่างกายของเราจะไม่ปล่อยให้เราสุขหรือทุกข์มากเกินไปและตลอดไป ไม่นานมันจะกลับเข้าสู่สภาวะเดิมของมัน พอเป็นอย่างนี้นักชีววิทยาก็เลยเชื่อว่าความสุขและความทุกข์ถูกออกแบบมาเพื่อช่วยให้เผ่าพันธุ์มนุษย์ดำรงอยู่ได้เท่านั้น เช่น มนุษย์จะมีความสุขมากเมื่อมันทำหน้าที่ขยายพันธุ์เพื่อดำรงเผ่าพันธุ์ (หรือก็คือการมี sex) ถ้าการมี sex ไม่มีความสุข คงไม่มีผู้ชายสักคนที่พยายามเพื่อที่จะให้ได้มันมา และในขณะเดียวกันร่างกายของเราก็จะทำให้ความสุขนี้หายไปอย่างรวดเร็ว ไม่อย่างนั้นผู้ชายก็จะเลิกสนใจผู้หญิงทันทีและหยุดขยายพันธุ์ไป เผ่าพันธุ์มนุษย์ก็จะสิ้นสุด หรือในทางตรงกันข้าม ร่างกายก็จะไม่ปล่อยให้เราทุกข์นานเกินไป เพราะถ้าทำแบบนั้นเราก็คงไม่มีกะจิตกะใจไปทำอะไร ก็นอนซึมๆ แล้วก็ตายไปเท่านั้นเอง มันบังคับให้เราหยุดเศร้าแล้วออกไปใช้ชีวิตต่อไป ไปทำหน้าที่ให้เผ่าพันธุ์ดำรงอยู่ต่อไป บางคนก็เปรียบเทียบความสุขเหมือนแอร์ครับ มันจะพยายามปรับอุณหภูมิห้องให้คงที่เสมอ ถ้าอากาศร้อนมันก็จะพยายามทำให้เย็นขึ้น ถ้าหนาวเกินไปมันก็จะพยายามทำให้อุ่นขึ้น

ความโชคร้ายอีกอย่างก็คือ เหมือนอย่างเครื่องทำอากาศที่สามารถตั้งอุณหภูมิที่ต้องการได้ มนุษย์แต่ละคนก็ถูกออกแบบมาให้มีค่าคงที่ของความสุขไม่เท่ากัน เช่น ถ้าสมมติให้ระดับความสุขของมนุษย์มีค่าได้ตั้งแต่ 1–10 มนุษย์บางคนเกิดมาสามารถมีความสุขได้ในระดับ 6–10 โดยมีระดับคงที่ที่ระดับ 8 คนแบบนี้ก็จะมีความสุขตลอดเวลา ไม่ว่าเขาจะเจอเรื่องร้ายๆ อะไรมาเขาก็จะหาทางมีความสุขกับมันได้ เขาสามารถมีความสุขสุดๆ ได้ถึงระดับ 10 เลย แต่บางคนถูกสร้างมาให้มีความสุขได้แค่ระดับ 3–7 โดยมีระดับคงที่ ที่ 5 เท่านั้น คนประเภทนี้ไม่ว่าจะมีเรื่องดีๆ เกิดขึ้นในชีวิตเขาแค่ไหน เขาก็จะรู้สึกไม่มีความสุขตลอดเวลา เขาจะไม่มีโอกาสจะได้สัมผัสกับความสุขระดับ 10 เลยในชีวิต เราก็คงพอจะมีเพื่อนทั้ง 2 แบบนี้ใช่ไหมครับ คนที่ดูเป็นคนร่างเริง แจ่มใสเหมือนจะมีความสุขตลอดเวลา เจอเรื่องร้ายๆ ไม่นานเขาก็จะกลับมาร่าเริงอีกเพราะสมองของเขาถูกออกแบบมาให้มีความสุขที่ระดับ 8 เสมอ กับคนที่ดูเศร้าๆ ไม่ค่อยเห็นเขายิ้มเท่าไหร่ พอเจอเรื่องร้ายๆ เขาจะยิ่งซึมไปเลยและต่อให้เจอเรื่องดีเขาก็เหมือนจะไม่ได้พอใจกับมันเท่าไหร่เพราะสมองของเขาไม่ได้ถูกสร้างมาให้สามารถรับรู้ความสุขได้เกินระดับ 7 นั่นเอง

เรามักจะคิดว่า ถ้าเราเปลี่ยนสถานที่ทำงาน ถ้าเรามีแฟน ถ้าเราแต่งงาน ถ้าเราได้รถใหม่ เราก็จะมีความสุข แต่พอเอาเข้าจริงๆ เราก็ไม่ได้มีความสุขมากมายขนาดนั้นและถึงมีมันก็คงอยู่แค่ช่วงเวลาสั้นๆ ผ่านไปสักพักเราก็จะรู้สึกชิน รู้สึกเฉยๆ กับมัน เพราะว่าการทำสิ่งเหล่านั้นไม่ได้ช่วยให้ระบบการทำงานของร่างกายและสมองของเราเปลี่ยนไป มันก็จะกลับไปสู่จุดคงที่ของมันเสมอ

แล้วแบบนี้มันก็มีโอกาสที่จะขัดกับงานวิจัยของนักจิตวิทยาด้านบนสิ เช่น ถ้ามีนักจิตวิทยาทำแบบสอบถามออกมาแล้วสรุปออกมาว่าคนที่แต่งงานจะมีความสุขกว่าคนที่อยู่เป็นโสด … จริงครับ อาจจะเกิดขึ้นได้ แต่มันไม่ได้หมายความการแต่งงานทำให้มีความสุข แต่มันอาจจะเป็นเพราะว่า เขาแต่งงานเพราะเขามีความสุข หรือ คนที่มีระดับความสุขคงที่ในระดับสูงจะดึงดูดเพศตรงข้ามได้ดีกว่า และจะประคองชีวิตคู่ได้ดีกว่าก็ได้ ก็เลยกลายเป็นเหมือนว่าแต่งงานแล้วมีความสุข แต่ก็ไม่ใช่ว่านักชีววิทยาจะไม่สนใจปัจจัยภายนอกเลยนะครับ การมีคู่ชีวิตอาจจะทำให้คนๆ หนึ่งสามารถมีความสุขได้บ่อยขึ้น ขึ้นไปแตะขอบบนความระดับความสุขได้บ่อยขึ้น และป้องกันไม่ให้เศร้าจนไปแตะขอบล่างของระดับความสุข

ถ้าเราเชื่อว่าทฤษฎีของนักชีววิทยาเป็นความจริง ก็แปลว่าวิวัฒนาการของมนุษย์ไม่ได้ทำให้เรามีความสุขมากขึ้นเลย ถ้าคนสองมีค่าคงที่ของระดับความสุขเท่ากัน คนนึงเป็นนักล่าเมื่อ 70,000 ปีก่อน อีกคนเป็นผู้บริหารบริษัทหลักพันล้าน เมื่อนักล่าล่าสัตว์สำเร็จสมองของเขาก็สั่งให้เขามีความสุขที่ระดับ 9 เมื่อผู้บริหารรู้ผลประกอบการของบริษัทว่าทะลุเป้า สมองของเขาก็สั่งให้เขามีความสุขระดับ 9 เท่ากัน แปลว่าไม่ได้มีใครมีความสุขมากว่าใครเลย เหตุการต่างๆ ที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์เป็นแค่ปัจจัยภายนอกเท่านั้น ไม่มีอะไรที่สามารถเปลี่ยนแปลงระบบภายในร่างกายเราได้

ถ้าเรารู้อย่างนี้แล้วมันก็ง่ายเลย เราก็แค่ต้องศึกษาว่าสารตัวไหนทำให้เรามีความสุขบ้าง แล้วเราก็ใช้วิทยาศาสตร์เพื่อเข้าไปแทรกแทรงการทำงานของร่างกายเรา เช่น ฉีดยาหรือผ่าตัด แค่ระดับสารเคมีในสมองเราเพิ่ม เราก็มีความสุขแล้ว วิวัฒนาการก็ดูจะมีประโยชน์ขึ้นมาบ้างจริงๆ

การวัดความสุขจากความหมายของชีวิต

อีกแนวคิดหนึ่งก็คือการวัดความสุขจากการดูว่าเรามีเป้าหมายในชีวิตหรือไม่ มีการศึกษาหนึ่งได้ทดลองสอบถามคนเป็นพ่อหรือแม่ลูกอ่อนว่าในแต่ละวันเขามีความสุขเวลาไหนบ้าง ค่าเฉลี่ยของทุกคนบอกว่าไม่ค่อยมีความสุข เพราะพวกเขาต้องคอยเฝ้าลูก เปลี่ยนผ้าอ้อม ล้างจาน ตื่นกลางดึก แต่พ่อแม่ทุกๆ คนก็มักจะบอกว่าลูกเป็นสิ่งที่ดีที่สุดในชีวิตพวกเขา เราก็เคยเป็นกันใช่ไหมครับ บางอย่างเวลาทำมันเหนื่อยมาก ท้อมากแต่เราก็ยังชอบทำมัน แนวคิดนี้ได้อธิบายว่า เป็นเพราะว่าเรามีเป้าหมายของชีวิต ถ้าเป้าหมายของพ่อแม่คือการเลี้ยงลูกให้ดี เขาก็จะมีความสุขกับการทำสิ่งนั้นๆ ตรงข้ามกับคนที่มีทุกอย่างเพียบพร้อมแต่ไม่มีเป้าหมายในชีวิตแล้ว เขาก็ไม่มีทางมีความสุขได้เลย

แต่ถ้าเป็นอย่างนี้ คนสมัยก่อนอาจจะมีความสุขมากกว่าพวกเราก็ได้ คนสมัยก่อนเชื่อในเรื่องชีวิตหลังความตายมากกว่าเรา พวกเขามีเป้าหมายในชีวิตว่าต้องทำอย่างนั้น อย่างนี้เพื่อให้ชีวิตหลังความตายของพวกเขาดี ทุกคนมีเป้าหมายของชีวิตอาจจะมากกว่าคนยุคปัจจุบันอย่างพวกเราเสียอีก ซึ่งตราบใดที่ไม่มีใครไปพิสูจน์ว่าความเชื่อของพวกเขาผิด (ซึ่งสมัยที่ยังไม่มีวิทยาศาสตร์ก็คงไม่มีใครไปแย้งได้) พวกเขาก็จะมีความสุขตลอดชีวิตของพวกเขา แต่ถ้าเราคิดตามหลักวิทยาศาสตร์จริงๆ แล้วเป้าหมายของชีวิตมนุษย์มันเป็นแค่ภาพลวงตาเท่านั้น ถ้าวันนี้โลกแตกไป จักรวาลก็คงทำงานต่อเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น แปลว่าเป้าหมายในชีวิตที่เราตั้งกันขึ้นมา มันก็แค่ภาพลวงตาที่เราตั้งขึ้นมาเพื่อให้เรามีความสุขเท่านั้นเอง แนวคิดนี้เหมือนจะสรุปได้โหดร้ายไปหน่อยว่าความสุขของมนุษย์ขึ้นอยู่กับภาพลวงตาที่เราตั้งให้ตัวเราเท่านั้น เพื่อนๆ ก็ลองไปคิดดูครับว่าเห็นด้วยกับแนวคิดนี้มากน้อยแค่ไหน

แนวคิดแบบศาสนา

แนวคิดทั้งหมดที่ผ่านมามักจะสรุปไปในแนวทางเดียวกันว่า เรารู้ว่าความสุขในชีวิตเราคืออะไร เรารู้ว่าเราต้องการอะไร แต่ศาสนาส่วนใหญ่จะบอกอีกแบบครับ ศาสนาจะบอกว่ามนุษย์ไม่ได้เข้าใจตัวเองมากพอ เช่น เราชอบมี sex เพราะ sex ทำให้เรามีความสุข แต่ศาสนามองว่ามันเป็นเรื่องบาป หรืออย่างน้อยๆ ก็ไม่ควรมี sex กับคนอื่นที่ไม่ใช่สามีภรรยา ทั้งๆ ที่ถ้าถามแบบไม่มีสนใจเรื่องศีลธรรมและวัฒนธรรมเลย การมี sex ทำให้ร่างกายของเรามีความสุขแน่ๆ หรืออีกตัวอย่างคือการใช้ยาเสพติด แน่นอนว่าคนที่ติดยาเสพติดก็เพราะว่าเวลาเสพยาแล้วมันมีความสุข ถ้าว่ากันตามหลักวิทยาศาสตร์ก็คงเป็นอย่างนั้น แต่ตามหลักศาสนาแล้วผิดอย่างร้ายแรงเลย นี่ก็เป็นตัวอย่างที่บอกว่าว่า ศาสนามองว่าเรื่องบางเรื่องเป็นสิ่งไม่ดี ไม่ใช่ความสุข ความสุขที่แท้จริงต้องทำอย่างที่ศาสนาสอนต่างหาก

ซึ่งก็สอดคล้องกับทฤษฎี Selfish Gene (ความเห็นแก่ตัวของยีน) และ Natural Selection (การคัดเลือกตามธรรมชาติ) ซึ่งบอกว่าสัตว์ทุกชนิดเลือกที่จะทำอะไรก็ได้ที่ดีต่อการคงอยู่ของเผ่าพันธุ์ตนเอง แม้ว่าจะมันอาจจะไม่ดีต่อสัตว์เหล่านั้นเป็นรายตัว เช่น สัตว์ตัวผู้ส่วนใหญ่ก็ชอบแข่งขันต่อสู่กัน แม้ว่าจะมีตายไปบ้าง แต่สุดท้ายเราก็จะได้ยีนที่แข็งแกร่งออกมา สัตว์ที่รักสงบ ไม่ต่อสู้ ไม่ดิ้นรนสุดท้ายก็จะตายๆ ไป พฤติกรรมเหล่านี้เกิดจากธรรมชาติของ DNA ของพวกมันถูกสร้างมาแบบนี้

ผมแทรกตรงนี้นิดนึง ทุกวันนี้ผมเริ่มกลุ้มใจว่าทฤษฎีนี้มันทำงานถูกต้องไหม เพราะว่าคนเก่งๆ สมัยนี้ไม่ค่อยมีลูกกัน ตั้งใจทำงาน สร้างฐานะ บางทีก็จนแก่ค่อยมาคิดมีลูก ซึ่งมันก็ไม่ดี เคยอ่านเจอว่าตามหลักวิทยาศาสตร์อายุที่เหมาะสมที่คนควรจะมีลูกมันคือราวๆ 18 ปีด้วยซ้ำไป (ไม่แน่ใจนะครับ) แต่ดูสภาพสังคมตอนนี้ คนที่ไม่ค่อยคิดรอบคอบหรือคนที่สภาพครอบครัวน่าจะไม่พร้อมมีลูกเท่าไหร่ ดันชอบมีลูกกันเยอะๆ และมีลูกกันตั้งแต่อายุยังน้อย เด็กที่เกิดมาก็ไม่ค่อยได้รับการดูแลอย่างที่ควร แล้วถ้า trend มันเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ ผมกลัวว่าคุณภาพประชากรโดยรวมจะตกลงไปเรื่อยๆ ไว้เดี๋ยวไปศึกษาจริงจังแล้วจะมาเล่าสิ่งที่ได้เห็น ได้อ่านให้ฟังนะครับ

แต่มีอยู่ศาสนาหนึ่งที่ได้ให้แนวคิดไว้น่าสนใจเป็นพิเศษคือศาสนาพุทธ โดยตั้งแต่ 2,500 ปีที่แล้ว ศาสนาพุทธก็เห็นตรงกับหลักการวิทยาศาสตร์ว่าความสุขของคนเราเกิดจากข้างใน เกิดจากการที่เรารู้สึกดีแล้วจึงมีความสุข ไม่ใช่จากปัจจัยภายนอกทั้งหลาย และรู้ด้วยว่าความรู้สึกต่างๆ ของมนุษย์เรามีเกิดขึ้นแล้วก็หายไป แม้ว่าจะเริ่มจากจุดเริ่มต้นเดียวกัน แต่ศาสนาพุทธสรุปผลออกมาต่างกับหลักวิทยาศาสตร์ครับ

ศาสนาพุทธบอกว่าคนเรามีความสุขเมื่อรู้สึกดี มีความทุกข์เมื่อรู้สึกไม่ดี เพราะฉะนั้นคนเราเลยพยายามตามหาอะไรก็ได้ที่ทำให้เรารู้สึกดี หลีกเลี่ยงอะไรก็ตามที่จะทำให้เรารู้สึกไม่ดี ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราทำ ตั้งแต่เกาแขน หาของอร่อยๆ หาผู้หญิงหน้าตาดี แย่งอำนาจ ทำสงคราม ล้วนแล้วแต่เป็นเพราะเราอยากรู้สึกดีทั้งสิ้น แต่ปัญหาที่ตามมาคือความรู้สึกเหล่านี้มันไม่คงอยู่ตลอดไป ไม่นานมันก็หายไป มนุษย์จึงต้องตามหาสิ่งที่ทำให้ตัวมนุษย์เองรู้สึกดีไปเรื่อยๆ หยุดไม่ได้ ถึงแม้ว่าจะเจอแล้วก็หยุดไม่ได้ ต้องหาไปเรื่อยๆ อีก ไม่มีวันสิ้นสุดเพราะเรากลัวว่าถ้าเราหยุดเราก็จะรู้สึกไม่ดี เราก็จะเป็นทุกข์ ศาสนาพุทธเลยบอกว่าจริงๆ แล้วความทุกข์ของเราไม่ใช่เพราะว่ารู้สึกไม่ดีหรือเศร้าหรืออะไรทั้งนั้น แต่เป็นเพราะวังวนของการตามหาความสุขนี้ต่างหากที่ทำให้เราต้องคอยกังวล ไม่พอใจอยู่ตลอดเวลา จิตใจของเราก็จะไม่มีวันสงบ เราก็ไม่มีวันมีความสุขตลอดไป

ศาสนาพุทธบอกว่าคนเราจะหลุดพ้นและมีความสุขได้จริงๆ ก็ต่อเมื่อเราเข้าใจธรรมชาติของความรู้สึกเหล่านี้และเลิกหมกมุ่นกับมัน นี่ก็คือจุดประสงค์หลักของการทำสมาธิ คือการที่เราสำรวจจิตใจเราอย่างใกล้ชิด ปล่อยให้ความรู้สึกทั้งหลายทั้งรัก โลภ โกรธ หลง ผ่านตัวเราไป และเข้าใจว่ามันไม่มีประโยชน์ที่จะไปหมกมุ่นกับมัน เมื่อเราหยุดหมกมุ่น เมื่อเราหยุดสนใจ หยุดต่อต้านความรู้สึกพวกนี้ จิตใจเราก็จะได้พักจริงๆ และมีความสุขในที่สุด

สรุปแล้วศาสนาพุทธบอกว่าความสุขไม่ได้เกิดจากปัจจัยภายนอก และก็ไม่ได้เกิดจากความรู้สึกจากภายในด้วย แต่การให้ความสำคัญกับความรู้สึกพวกนั้นต่างหากทำให้เกิดทุกข์ คำสอนของศาสนาพุทธก็เลยบอกว่าเราต้องหยุดหมกมุ่นไม่ใช่เฉพาะของนอกกาย แต่ความรู้สึกข้างในของเราด้วย เมื่อนั้นเราจึงจะมีความสุขจริงๆ

สรุป

ก็ประมาณนี้ครับ แนวคิดเรื่องความสุขของมนุษย์จากหนังสือ Sapiens ตอนนี้ก็ยังไม่มีแนวนิดไหนที่เป็นแนวคิดที่ถูกต้อง 100% เป็นเรื่องที่ต้องศึกษากันไปอีกยาวนานเลย และเราก็ยังตอบคำถามไม่ได้แน่ๆ ว่าวิวัฒนาการของเราตั้งแต่นักล่าจนมาเป็นเราทุกวันที่ มันทำให้เรามีความสุขมากขึ้นจริงๆ หรือไม่ มันทำให้โลกของเราน่าอยู่ขึ้นจริงๆ หรือไม่ ตอนนี้ก็อยู่ที่เพื่อนๆ จะเลือกแนวคิดที่ว่ามาไปใช้แล้วหล่ะครับ ความจริงแล้วยังมีแนวคิดเรื่องความสุขอีกมากมายเลยนะครับ ใครสนใจก็ลองหาหนังสือ หรือฟังคลิปใน Youtube กันดูได้ครับ

จนกว่าจะพบกันใหม่ในบทความต่อไป … สวัสดีครับ

--

--